พลิกอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลสักนิด ก่อนคิดจะกินหวาน!
ทุกคนรู้ดีว่าการบริโภคน้ำตาลในแต่ละวัน ควรถูกจำกัดปริมาณไม่ให้มากจนเกินความต้องการของร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งปริมาณของ ‘น้ำตาล’ ที่เรากำลังพูดถึงนี้ ไม่ได้เป็นเพียงน้ำตาลประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงน้ำตาลที่เติมเข้าไปในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ด้วย
การอ่านปริมาณน้ำตาลบนฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์อาหาร จะทำให้เรารู้ปริมาณของน้ำตาลที่มีหน่วยเป็น ‘กรัม’ ในอาหารแปรรูปแต่ละอย่างที่เราต้องการจะบริโภค ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้สามารถคำนวณปริมาณการบริโภคน้ำตาลต่อวันได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้เราสามารถเลือกกินอาหารทางเลือกอื่น ๆ ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า เพื่อการควบคุมปริมาณน้ำตาลต่อวันอย่างเหมาะสม
ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อวัน ของคนในแต่ละช่วงวัย
- เด็ก และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา ต่อวัน
- วัยรุ่นหญิง-ชาย และคนวัยทำงาน ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา ต่อวัน
- ผู้ใช้แรงงานหนักหญิง และชาย ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัม หรือ 8 ช้อนชา ต่อวัน
วิธีการอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหาร
ในชีวิตประจำวัน ทุกคนเห็นฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหารผ่านตาให้เห็นอยู่ตลอด หนึ่งในข้อมูลสำคัญจะบ่งบอกถึง ‘ปริมาณน้ำตาล’ ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ เรามาเรียนรู้ และทำความเข้าใจการอ่านฉลากโภชนาการอย่างชาญฉลาด เพื่อทางเลือกของสุขภาพที่ดีกว่าเดิมไปพร้อมๆ กันเลย
- การอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารแบบเต็ม และแบบย่อ
บนฉลากข้อมูลโภชนาการอาหาร จะมีทั้งแบบเต็ม และแบบย่อ ซึ่งมีวิธีการอ่านเหมือนกันประกอบด้วยข้อมูลชนิด และปริมาณของสารอาหารต่าง ๆ ที่มีบอกไว้อย่างครบถ้วน วิธีอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหาร มีส่วนสำคัญ 2 จุดที่ต้องสังเกตให้ดี ดังต่อไปนี้ข้อมูล ‘คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค’ จะแสดงอยู่ในส่วนกลางของตารางข้อมูลโภชนาการ การอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องดูข้อมูลที่อยู่ในหมวดหมู่ของสารอาหารประเภท ‘คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด’ ซึ่งจะประกอบด้วยใยอาหาร และน้ำตาล แสดงปริมาณมีหน่วยเป็น ‘กรัม’
ข้อมูล ‘หนึ่งหน่วยบริโภค’ จะแสดงอยู่ในตำแหน่งด้านบนสุดของตารางข้อมูลโภชนาการ หมายถึง ปริมาณอาหารที่ผู้ผลิตแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานในแต่ละครั้ง ซึ่งนั่นหมายความว่าผลิตภัณฑ์อาหาร 1 ชิ้น บางครั้งมีข้อแนะนำให้แบ่งกินเป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งถ้าเรากินทั้งหมดภายในครั้งเดียว อาจหมายถึงการรับประทานอาหารเกินความจำเป็นต่อวันได้
ข้อมูลหน่วยบริโภคเป็นจุดสำคัญ ที่ทำเอาคนรักสุขภาพทั้งหลาย ตกม้าตายมานักต่อนัก เพราะข้อมูลปริมาณสารอาหารทั้งหมดที่แสดงอยู่ในตารางข้อมูลโภชนาการ หมายถึงข้อมูลของอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภคเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณของอาหารทั้งหมดที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ ดังนั้นถ้าเราอยากจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น มีปริมาณน้ำตาลมากเท่าไหร่ ก็ต้องนำจำนวนหน่วยบริโภค ไปคูณกับจำนวนปริมาณน้ำตาลที่แสดงเป็นหน่วยกรัมในตารางข้อมูลโภชนาการ จึงจะได้ตัวเลขของปริมาณน้ำตาลสุทธิทั้งหมด ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ
- การอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม
สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ได้กำหนดอาหารบางประเภท ให้มีความจำเป็นต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือที่หลาย ๆ คนเรียกติดปากว่า ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ประกอบด้วยอาหารประเภท มันฝั่งทอด หรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอด หรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบ และอาหารขบเคี้ยวต่าง ๆ, ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ หรือ บิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้
ฉลากโภชนาการแบบ GDA เป็นฉลากที่อ่านง่ายมากที่สุด เพราะมีขนาดใหญ่ และแสดงโดดเด่นด้วยตัวเลขสุทธิที่ด้านหน้าของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยผู้บริโภคจะสามารถมองเห็นตัวเลขของปริมาณน้ำตาลที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์อาหาร ต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ ในตำแหน่ง ‘ตัวเลขแถวบน’ โดยในส่วนของ ‘ตัวเลขแถวล่าง’ จะแสดงค่าร้อยละของปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ พร้อมข้อมูลแนะนำว่า 1 บรรจุภัณฑ์ ควรจะแบ่งกินทั้งหมดกี่ครั้ง
เคล็ดลับเลือกผลิตภัณฑ์อาหาร สำหรับคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ปัจจุบันกลุ่มคนรักสุขภาพจำนวนไม่น้อย ต้องการหันมาบริโภคอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์จะทำให้สามารถเลือกอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการได้ ช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับปริมาณน้ำตาลสูงเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสัญลักษณ์กลุ่มอาหารทางเลือกสุขภาพ เป็นอีกตัวเลือกที่จะช่วยให้คุณสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารในประเภทเดียวกัน ผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลือกรับประทานอาหารมื้อหลัก ที่บนฉลากโภชนาการมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตรวม ไม่เกิน 70 กรัม และ อาหารว่างระหว่างวัน ควรมีคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 30 กรัม โดยคำนวณปริมาณน้ำตาลที่ได้รับจากอาหาร และเครื่องดื่มที่กินตลอดทั้งวัน ไม่เกิน 24 กรัม ต่อวัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
ข้อมูลบนฉลากโภชนาการ เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ และผู้ป่วยที่ต้องการลดความเสี่ยงในการได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน หรือโซเดียมที่สูงจนเกินความจำเป็นต่อวัน เมื่อหันมาอ่านฉลากปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารให้ติดเป็นนิสัย ก่อนเลือกซื้ออาหารทุกครั้ง หลายคนอาจจะเลิกกินอาหาร หรือเครื่องดื่มบางชนิดได้แบบเด็ดขาดเลยทีเดียว เพราะอาหารแปรรูปบางอย่าง เพียงแค่ชิ้นเดียว มีน้ำหนักไม่กี่กรัม แต่ปริมาณน้ำตาลทะลุกราฟ ชนิดที่ว่าเอาปริมาณโควต้าน้ำตาลต่อวันไปจนหมด จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มคนรักสุขภาพในยุคนี้ ต่างหันมาปรุงอาหารกินเอง เพื่อการควบคุมปริมาณน้ำตาลอย่างได้ผลลัพธ์ดีที่สุด
เพราะชีวิตขาดหวานไม่ได้ จะดีแค่ไหนหากน้ำตาลที่คุณเลือกมาประกอบเมนูอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ เป็นน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพของคุณ ขอแนะนำให้รู้จักกับน้ำตาลที่ใส่ใจกับสุขภาพของทุกเพศทุกวัย ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ 100% จากโรงงานน้ำตาล GOOD SUGAAAR เจ้าแรกในประเทศไทย ที่ผลิตน้ำตาลที่มีคุณสมบัติเป็น ‘น้ำตาล Low GI‘ อาหารดัชนีน้ำตาลต่ำที่คู่ควรอย่างยิ่งกับคนรักสุขภาพ หนึ่งในสารให้ความหวานไม่กระตุ้นอินซูลิน ที่จะทำให้คุณรังสรรค์ทุกเมนูอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยถูกปาก พร้อมกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์
GOOD SUGAAAR ทางเลือกของน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพ อร่อยได้แบบไม่รู้สึกผิด